วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

7.1 ศิลปะบารอก

7.1 ศิลปะบารอก

ศิลปะบารอกเกิดขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 สืบต่อจากศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และเสื่อมความนิยมเมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ลักษณะของศิลปะบารอกเปลี่ยนแปลงจากศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งแสดงอารมณ์สงบนิ่งแฝงปรัชญามาเป็นอารมณ์พลุ่งพล่าน แสดงความดิ้นรน เคลื่อนไหว หรือสร้างให้มีรูปทรงบิดผันจนเกินงาม หรือประณีตบรรจงเกินไป และเน้นบรรยากาศโอ่อ่าหรูหราเป้นพิเศษ ศิลปะแนวนี้รุ่งเรืองมากในประเทศอิตาลี และกลุ่มประเทศคาทอลิก
  1. จิตรกรรม มีการลวงตาด้วยเส้น สี แสงเงา และใช้หลักทัศนียวิสัย ทำให้ภาพมีลักษณะกินตา เป็นภาพสามมิติ จิตรกรสำคัญได้แก่ มีเกลันเจโล ดา การาวัจโจ(Michelangeloda Caravaggio ค.ศ.1573-1610) เรมบรันต์(Rembrandt ค.ศ.1606-1669) และพีเตอร์ พอล รูเบนส์(Peter Paul Rubens ค.ศ.1577-1644)
  2. สถาปัตยกรรม นิยมสร้างให้ดูโอ่อ่าเกินความจำเป็น ตัวอย่างเช่นสถาปัตยกรรมภายในพระราชวังแวร์ซายของฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14


  3. ดนตรี มีทั้งเพลงศาสนา และไม่ใช่เพลงศาสนา มีทั้งการร้องเดี่ยว และการร้องแบบอุปรากรใช้นักดนตรี และนักแสดงจำนวนมาก นักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงได้แก่ คลอดิโอ มอนเตอเวอร์ดี(Claudio Monteverdi ค.ศ.1567-1643)

  4. วรรณกรรม วรรณกรรมแบบบารอกชอบเขียนเรื่องที่เกินจริง

7.2 ลัทธิคลาสสิกใหม่

7.2 ลัทธิคลาสสิกใหม่
ได้รับความนิยมในยุโรปประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์เปลี่ยนความรู้สึก ความเชื่อ และทัศนคติอย่างสิ้นเชิง เพราะจากความสำเร็จในการปฏิวัติและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์มีความเชื่อมั่นในเหตุผล มีความสามารถ เฉลียวฉลาด รู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เรียกว่าเป็นสมัยแห่งภูมิธรรม
  1. สถาปัตยกรรม มีการฟื้นฟูศิลปะคลาสสิกมาปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ในสมัยนั้น มีการสะท้อนเรื่องราวของอารยธรรมโบราณ แสดงความสง่าของทรวดทรง เน้นในความสมดุลได้สัดส่วน

  2. ประติมากรรมและจิตรกรรม ประติมากรรมคลสสิกใหม่นิยมลอกเลียนแบบประติมากรรมของกรีก-โรมัน ส่วนจิตรกรรรมเน้นในเรื่องเส้นมากกว่าการให้สี แสดงออกให้เห็นถึงความสง่างาม และยิ่งใหญ่ในความเรียบง่าย คล้ายกับผลงานของกรีกโบราณ

  3. นาฏกรรม ในสมัยนี้ได้รับอิทธิพลจากการละครของกรีก ซึ่งต้องการแสดงความสมเหตุสมผลของเรื่อง และมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนนอกเหนือจากการให้ความเพลิดเพลิน ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่เขียนบทละครคลาสสิก

  4. ดนตรี สมัยนี้นิยมเนื้อเรื่องที่แสดงออกด้านความคิดเห็น และในเรื่องของความเสมอภาคตามทัศนะของนักเขียนสมัยภูมิปัญญา นอกจากนี้ความคิดที่เชื่อมั่นในเหตุผล สติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ ก็มีบทบาทที่ทำให้การแต่งเพลงมีอิสระมากขึ้น นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงสมัยคลาสสิกได้แก่ วอล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ต(Wolfgang Amadeus Mozart ค.ศ.1756-1791)

7.3 ลัทธิจินตนิยม

7.3 ลัทธิจินตนิยม
ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศิลปะของโลกตะวันตกมีลักษณะเป็นแบบจินตนิยม ซึ่งเน้นอารมณื และความรู้สึกภายใน เนื่องจากผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายการใช้เหตุผล และต้องการกลับไปชื่นชมความงามของธรรมชาติ พอใจในเรื่องราวแปลก แตกต่างออกไปจากดินแดนต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงประเพณีนิยม พวกศิลปินจะสร้างงานโดยยึดถืออารมณ์ฝัน และจินตนาการของตนเป็นสำคัญ และไม่เห็นด้วยกับการสร้างงานที่ยึดถือหลักวิชาการ และเหตุผล

1. สถาปัตยกรรม มีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีตมาดัดแปลงตามจินตนาการ เพื่อให้เกิดผลทางด้านอารมณ์ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตกรรมแบบกอทิก

2. ประติมากรรม ประติมากรรมจินตนิยมเน้นการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และแนวความคิดประติมากรจินตนิยมที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ได้แก่ ฟรองซัว รูเด(Francois Rude ค.ศ.1784-1855) ผู้ปั้นประติมากรรมนูนสูงมาร์ซายแยส(Marseillaise) ประดับฐานอนุสาวรีย์ประตูชัย(Arch of Triumph)ในกรุงปารีส

3. จิตรกรรม มีการจัดองค์ประกอบด้วยสี เส้น แสงเงา และปริมาตรค่อนข้างรุนแรง มุ่งให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ คล้อยตามไปกับจินตนาการที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน แปลกประหลาดตื่นเต้นเร้าใจ ความรุนแรง และความน่าหวาดเสียวสยดสยอง จิตรกรคนสำคัญของฝรั่งเศส ได้แก่ เออชอน เดอลา-กรัวซ์(Eugene Delacroix ค.ศ.1798-1863) ผู้เขียนภาพอิสรภาพนำประชาชน(Liberty leading the people) เขียนจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นบัลลังก์ราชวงศ์บูร์บง ที่เกิดเมื่อ ค.ศ.1830


4. ดนตรี ดนตรีแนวจินตนิยมไม่ได้แต่งเพื่อฟังเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะเร้าความรู้สึกทางจิตใจด้วย เช่น ความรู้สึกชาตินิยม โน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้คล้อยตาม นักแต่งเพลงจินตนิยมที่มีชื่อเสียงได้แก่ ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน(Ludwig van Beethoven ค.ศ.1770-1827) ฟรานซ์ ชูเบิร์ต(Franz Schubert ค.ศ.1797-1828) เป็นต้น

5. การละคร นิยมแสดงเรื่องที่ตัวเอกประสบปัญหาอุปสรรค หรือมีข้อขัดแย้งในชีวิตอย่างสาหัส ซึ่งจะดึงอารมณ์ของผู้ชมให้เอาใจช่วยตัวเอก การเขียนบทไม่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผนอย่างละครคลาสสิก ละครแนวจินตนิยมกำเนิดในเยอรมนี บทละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เรื่องเฟาสต์(Faust)ของโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ(Johanne Wolfgang von Goethe ค.ศ.1749-1832)

6. วรรณกรรม เน้นจินตนาการ และอารมณ์ และถือว่าควมต้องการของผู้ประพันธ์สำคัญกว่าความต้องการของคนในสังคม บทร้อยกรองประเภทคีตกานต์(lyric) ซึ่งเป็นโคลงสั้นๆแสดงอารมณ์ของกวีได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนี้ กวีคนสำคัญของอังกฤษ คือ วิลเลียม เวิดส์เวิร์ท(William wordsworth ค.ศ.1770-1850) และ แซมวล เทย์เลอร์ โคลริดจ์(Samuel Taylor Colridge ค.ศ.1772-1834) กวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ วิกเตอร์-มารี อูโก(Victor Marie Hugo ค.ศ.1802-1885) นอกจาแต่งโคลงแล้ว ยังแต่งบทละครและนวนิยาย นวนิยายที่มีชื่เสียงมาก คือ เหยื่ออธรรม (Les Miserables)

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

7.4 ลัทธิสัจนิยม

7.4 ลัทธิสัจนิยม (Realisticism)
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เป็นสมัยแห่งความเจริญทางเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สังคมของยุโรปเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การใช้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบทุนนิยม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับนายทุน ขณะเดียวกันก็เกิดแนวความคิดแบบสังคมนิยม ซึง่ต่อต้านระบบนายทุน ต้องการให้ชนชั้นแรงงานเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีอำนาจทางสังคมและการเมือง อย่างไรก็ตามชนชั้นกลางหรือนายทุนก็ยังสามารถรักษาสถานภาพและอำนาจในสังคมของตนไว้ได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้แนวความคิดทางศิลปะหันเหจากแนวจินตนิยมมาเป็นแนวสัจนิยม ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของชีวิต โดยต้องการให้เห็นว่าโลกที่แท้จริงไม่ได้งดงามตามแบบที่พวกจินตนิยมเชื่อถือกัน ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้ มีการเอารัดเอาเปรียบและการขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นในสังคม

ลักษณะเด่นของสัจนิยม คือ การแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของสังคม เปิดโปงความชั่วร้ายของพวกนายทุน และความไม่ยุติธรรมที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับ มักจะเน้นชีวิตของพวกกรรมกรที่ทุกข์ยาก ชุมชนแออัด ความสับสนวุ่นวายในเมือง สภาพของคนที่ยากไร้ การเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มคนที่มีฐานะดีกว่า ส่วนมากจะเป็นรายละเอียดของชีวิตประจำวันทุกด้านตามความเป็นจริง พวกสัจนิยมไม่นิยมเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องจินตนาการเพ้อฝัน และไม่มองโลกในแง่ดีเหมือนพวกจินตนิยม นอกจากนี้ยังเสนอผลงานอย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง
1.
ด้านสถาปัตยกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ อาคารสำนักงานที่สูงหลายๆชั้นกันมาก การก่อสร้างอาคารจะนำวัสดุที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เช่น เหล็กกล้า เหล็กหล่อ แทนอิฐ ไม้ เหมือนแต่ก่อน อาคารส่วนใหญ่เป็นลักษณะเรียบง่าย ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดในเนื้อที่จำกัด การออกแบบจึงต้องสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความงามทางศิลปะด้วย
2.
ประติมากรรม นิยมปั้นและหล่อรูปคนมีรูปร่างสัดส่วนเหมือนคนจริง ผิวรูปปั้นหยาบ ไม่เรียบ เมื่อมีแสงส่องกระทบจะเห็นกล้ามเนื้อชัดเจน ศิลปินคนสำคัญ คือ โอกูสต์ โรแดง (August Rodin ค.ศ.1840-1917) ซึ่งเป็นประติมากรที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสและของโลก ผลงานชิ้นเอก เช่น นักคิด (The Thinker) หล่อด้วยสำริด

3.จิตรกรรม มักสะท้อนสภาพชีวิตจริงของมนุษย์ในด้านลบ เช่น ชีวิตคนชั้นต่ำตามเมืองใหญ่ๆ ชีวิตชาวไร่ชาวนาที่ยากไร้ในชยบท ศิลปะสัจนิยมมีกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส จากการริเริ่มของกูสตาฟ กูร์เบ (Gustave Courbet ค.ศ. 1819-1877) ซึ่งยึดหลักการสร้างงานให้เหมือนจริงและเป็นจริงตามที่ตาแลเห็น