ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศิลปะของโลกตะวันตกมีลักษณะเป็นแบบจินตนิยม ซึ่งเน้นอารมณื และความรู้สึกภายใน เนื่องจากผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายการใช้เหตุผล และต้องการกลับไปชื่นชมความงามของธรรมชาติ พอใจในเรื่องราวแปลก แตกต่างออกไปจากดินแดนต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงประเพณีนิยม พวกศิลปินจะสร้างงานโดยยึดถืออารมณ์ฝัน และจินตนาการของตนเป็นสำคัญ และไม่เห็นด้วยกับการสร้างงานที่ยึดถือหลักวิชาการ และเหตุผล
1. สถาปัตยกรรม มีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีตมาดัดแปลงตามจินตนาการ เพื่อให้เกิดผลทางด้านอารมณ์ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตกรรมแบบกอทิก
2. ประติมากรรม ประติมากรรมจินตนิยมเน้นการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และแนวความคิดประติมากรจินตนิยมที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ได้แก่ ฟรองซัว รูเด(Francois Rude ค.ศ.1784-1855) ผู้ปั้นประติมากรรมนูนสูงมาร์ซายแยส(Marseillaise) ประดับฐานอนุสาวรีย์ประตูชัย(Arch of Triumph)ในกรุงปารีส
3. จิตรกรรม มีการจัดองค์ประกอบด้วยสี เส้น แสงเงา และปริมาตรค่อนข้างรุนแรง มุ่งให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ คล้อยตามไปกับจินตนาการที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน แปลกประหลาดตื่นเต้นเร้าใจ ความรุนแรง และความน่าหวาดเสียวสยดสยอง จิตรกรคนสำคัญของฝรั่งเศส ได้แก่ เออชอน เดอลา-กรัวซ์(Eugene Delacroix ค.ศ.1798-1863) ผู้เขียนภาพอิสรภาพนำประชาชน(Liberty leading the people) เขียนจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นบัลลังก์ราชวงศ์บูร์บง ที่เกิดเมื่อ ค.ศ.1830
4. ดนตรี ดนตรีแนวจินตนิยมไม่ได้แต่งเพื่อฟังเพลิดเพลินอย่างเดียว แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะเร้าความรู้สึกทางจิตใจด้วย เช่น ความรู้สึกชาตินิยม โน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้คล้อยตาม นักแต่งเพลงจินตนิยมที่มีชื่อเสียงได้แก่ ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน(Ludwig van Beethoven ค.ศ.1770-1827) ฟรานซ์ ชูเบิร์ต(Franz Schubert ค.ศ.1797-1828) เป็นต้น
5. การละคร นิยมแสดงเรื่องที่ตัวเอกประสบปัญหาอุปสรรค หรือมีข้อขัดแย้งในชีวิตอย่างสาหัส ซึ่งจะดึงอารมณ์ของผู้ชมให้เอาใจช่วยตัวเอก การเขียนบทไม่เคร่งครัดในระเบียบแบบแผนอย่างละครคลาสสิก ละครแนวจินตนิยมกำเนิดในเยอรมนี บทละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ เรื่องเฟาสต์(Faust)ของโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ(Johanne Wolfgang von Goethe ค.ศ.1749-1832)
6. วรรณกรรม เน้นจินตนาการ และอารมณ์ และถือว่าควมต้องการของผู้ประพันธ์สำคัญกว่าความต้องการของคนในสังคม บทร้อยกรองประเภทคีตกานต์(lyric) ซึ่งเป็นโคลงสั้นๆแสดงอารมณ์ของกวีได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนี้ กวีคนสำคัญของอังกฤษ คือ วิลเลียม เวิดส์เวิร์ท(William wordsworth ค.ศ.1770-1850) และ แซมวล เทย์เลอร์ โคลริดจ์(Samuel Taylor Colridge ค.ศ.1772-1834) กวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ วิกเตอร์-มารี อูโก(Victor Marie Hugo ค.ศ.1802-1885) นอกจาแต่งโคลงแล้ว ยังแต่งบทละครและนวนิยาย นวนิยายที่มีชื่เสียงมาก คือ เหยื่ออธรรม (Les Miserables)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น