วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

7.4 ลัทธิสัจนิยม

7.4 ลัทธิสัจนิยม (Realisticism)
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เป็นสมัยแห่งความเจริญทางเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สังคมของยุโรปเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การใช้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบทุนนิยม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับนายทุน ขณะเดียวกันก็เกิดแนวความคิดแบบสังคมนิยม ซึง่ต่อต้านระบบนายทุน ต้องการให้ชนชั้นแรงงานเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีอำนาจทางสังคมและการเมือง อย่างไรก็ตามชนชั้นกลางหรือนายทุนก็ยังสามารถรักษาสถานภาพและอำนาจในสังคมของตนไว้ได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้แนวความคิดทางศิลปะหันเหจากแนวจินตนิยมมาเป็นแนวสัจนิยม ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของชีวิต โดยต้องการให้เห็นว่าโลกที่แท้จริงไม่ได้งดงามตามแบบที่พวกจินตนิยมเชื่อถือกัน ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้ มีการเอารัดเอาเปรียบและการขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นในสังคม

ลักษณะเด่นของสัจนิยม คือ การแสดงให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของสังคม เปิดโปงความชั่วร้ายของพวกนายทุน และความไม่ยุติธรรมที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับ มักจะเน้นชีวิตของพวกกรรมกรที่ทุกข์ยาก ชุมชนแออัด ความสับสนวุ่นวายในเมือง สภาพของคนที่ยากไร้ การเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มคนที่มีฐานะดีกว่า ส่วนมากจะเป็นรายละเอียดของชีวิตประจำวันทุกด้านตามความเป็นจริง พวกสัจนิยมไม่นิยมเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องจินตนาการเพ้อฝัน และไม่มองโลกในแง่ดีเหมือนพวกจินตนิยม นอกจากนี้ยังเสนอผลงานอย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง
1.
ด้านสถาปัตยกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ อาคารสำนักงานที่สูงหลายๆชั้นกันมาก การก่อสร้างอาคารจะนำวัสดุที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เช่น เหล็กกล้า เหล็กหล่อ แทนอิฐ ไม้ เหมือนแต่ก่อน อาคารส่วนใหญ่เป็นลักษณะเรียบง่าย ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดในเนื้อที่จำกัด การออกแบบจึงต้องสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความงามทางศิลปะด้วย
2.
ประติมากรรม นิยมปั้นและหล่อรูปคนมีรูปร่างสัดส่วนเหมือนคนจริง ผิวรูปปั้นหยาบ ไม่เรียบ เมื่อมีแสงส่องกระทบจะเห็นกล้ามเนื้อชัดเจน ศิลปินคนสำคัญ คือ โอกูสต์ โรแดง (August Rodin ค.ศ.1840-1917) ซึ่งเป็นประติมากรที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสและของโลก ผลงานชิ้นเอก เช่น นักคิด (The Thinker) หล่อด้วยสำริด

3.จิตรกรรม มักสะท้อนสภาพชีวิตจริงของมนุษย์ในด้านลบ เช่น ชีวิตคนชั้นต่ำตามเมืองใหญ่ๆ ชีวิตชาวไร่ชาวนาที่ยากไร้ในชยบท ศิลปะสัจนิยมมีกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส จากการริเริ่มของกูสตาฟ กูร์เบ (Gustave Courbet ค.ศ. 1819-1877) ซึ่งยึดหลักการสร้างงานให้เหมือนจริงและเป็นจริงตามที่ตาแลเห็น









1 ความคิดเห็น: