วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

2.2แนวคิดใหม่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

2.2แนวคิดใหม่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
ในสมัยกลาง ชาวตะวันตกเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด การมีชีวิตอยู่เป็นการไถ่บาป เพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ทัศนคตินี้ทำให้ชาวตะวันตกหมดความสนใจต่อความสวยงามของโลก เมื่อเกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาขึ้น แนวคิดทางโลกของชาวตะวันตกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยและเห็นว่า มนุษย์สามารถพัฒนาชีวิตตนเองให้ดี มีคุณค่าได้โดยการศึกษา แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของลัทธิมนุษยนิยม(humanism) ที่ให้ความสนใจโลกปัจจุบันแทนการมุ่งไปสวรรค์

นักปราชญ์คนแรกที่มีบทบาทสำคัญและได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งมนุษยนิยม คือ ฟรันเซสโก เปตรากา เทปราก (Francessco Petrarca Petrarch ค.ศ.1304-1374) ซึ่งพยายามศึกษาการใช้ภาษาละตินตามแบบแผนเดิมและชี้ให้เห็นถึงความงามของภาษาละติน




ความสนใจในวรรณคดีคลาสสิกของเทปราก ส่งผลให้ลูกศิษย์และผู้นิยมงานเขียนสมัยคลาสสิกแสวงหางานเก่าๆ และงานเขียนเก่าๆได้รับการศึกษาค้นคว้าและคัดลอกอย่างกว้างขวาง ผู้สนใจในงานคลาสสิกของสมัยโบราณหรือเรียกว่า พวกมนุษยนิยม (humanist) ได้รับการยกย่องในความรู้และความสามารถในการใช้ภาษาละติน และได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นราชเลขาธิการและอาจารย์ประจำราชสำนัก ตลอดจนเป็นเจ้าหน้าที่สารบรรณในสำนักสันตะปาปา



ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 นักปราชญ์ชาวกรีกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลเริ่มอพยพจากการรุกรานของพวกมุสลิมมายังแหลมอิตาลี และสมัครเป็นอาจารย์สอนภาษากรีกในราชสำนักและโรงเรียนต่างๆ ทำให้พวกมนุษยนิยมชาวอิตาลีมีความรู้ในภาษาและวัฒนธรรมของกรีก สามารถนำวรรณคดีและปรัชญาของกรีกมาแปลเป็นภาษาละตินเผยแพร่ในยุโรปตะวันตกมากขึ้น

ในค.ศ.1454 โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenburg ค.ศ.1400-1468) สามารถผลิตเครื่องพิมพ์ที่ใช้วิธีการเรียงตัวอักษรได้สำเร็จ ทำให้หนังสือมีราคาถูกลง และเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆได้กว้างขวาง ทำให้ความนึกคิดและความสนใจของประชากรในดินแดนต่างๆมีความเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น

นักมนุษยนิยมส่วนมากจะศรัทธาในคริสต์ศาสนา แต่ความมีศรัทธามิได้ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของปัจเจกบุคคล นักมนุษยนิยมมีความคิดที่ว่าคริสต์ศาสนิกชนควรจะแยกตัวจากการครอบงำทางความคิดของศาสนจักร เพื่อแสวงหาสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งความคิดนี้เป็นรากฐานการกบฏของคริสต์ศาสนิกชนต่อสถาบันสันตะปาปาที่กำลังเสื่อมโทรม ที่นำไปสู่การต่อต้านวิธีปฏิบัติต่างๆของศาสนจักรที่ขัดต่อข้อกำหนดในพระคัมภีร์ไบเบิล ทำให้เกิดการปฏิรูปทางศาสนาใน ค.ศ. 1517

ในสมัยกลาง งานสร้างสรรค์ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับคริสต์ศาสนาโดยเฉพาะ ศิลปินไม่สามารถถ่ายทอดจินตนาการและความคิดเสรีในการสร้างงานของตนเองได้ ดังนั้นงานศิลปะส่วนใหญ่มีลักษณะแข็งกระด้างและขาดชีวิตชีวา

ศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยานับเป็นการปฏิวัติแขนงหนึ่ง เพื่อให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของคริสต์ศาสนาในสมัยกลาง ประติมากรในสมัยนี้หวนกลับไปนิยมวิธีการของกรีก-โรมันที่สร้างงานศิลปะที่เป็นธรรมชาติ โดยหันมาให้ความสนใจต่อความสวยงามของสรีระร่างกายมนุษย์ มีการค้นคว้าเทคนิคใหม่ๆในการผสมสี กลวิธีการวาดภาพปูนเปียก(fresco) ให้ความสำคัญของแสงและเงา รวมทั้งมิติและการจัดองค์ประกอบของภาพ ศิลปินที่สำคัญที่มีชื่อเสียงได้แก่ มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี (Michelangelo Buonarroti ค.ศ.1475-1564) เลโอนาร์โด ดา วินซี (Leonardo da Vinci ค.ศ. 1452-1519) และราฟาเอล (Raphael ค.ศ. 1483-1520)

มีเกลันเจโล เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งเขาสนใจด้านประติมากรรมมากที่สุด โดยเฉพาะรูปสลักผู้ชายเปลือยแสดงสัดส่วนและกล้ามเนื้อที่สมส่วนของร่างกาย เพราะเขาคิดว่ามนุษย์เกิดจากฝีพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า จึงนับว่าเป็นรูปลักษณ์ที่งดงามที่สุด งานประติมากรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ รูปสลักเดวิด (David) เป็นชายหนุ่มเปลือยกายที่อยู่ในท่าเตรียมต่อสู้กับศัตรู และปิเอตา (Pieta) เป็นรูปสลักพระมารดากำลังประคองพระเยซูในอ้อมพระกรหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแล้ว งานจิตรกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนไว้บนเพดานและฝาผนังของโบสถ์ซีสติน (Sistine Chapel) ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ภาพส่วนใหญ่แสดงส่วนสัดต่างๆของร่างกายชายหญิง ซึ่งเป็นแนวเขียนใหม่ที่ผิดไปจากประเพณีการวาดรูปในโบสถ์วิหารอื่นๆ


เลโอนาร์โด ดา วินซี เป็นศิลปินและนักปราชญ์ที่มีความรู้และความสามารถเป็นเลิศในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และนำความรู้ต่างๆมาถ่ายทอดในรูปแบบของงานจิตรกรรมได้เป็นอย่างดี งานของเขาเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นจริง การใช้โทนสีที่นุ่มนวล ทำให้ลักษณะของภาพมีความละเมียดละไมและแฝงไว้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความรักความเมตตา อันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของนักมนุษยนิยม ภาพเขียนที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) เป็นภาพอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูก่อนถูกนำไปตรึงไม้กางเขน โมนาลิซา (Mona Lisa) เป็นภาพหญิงสาวที่มีรอยยิ้มอันชวนฉงน โดยมีบรรยากาศของธรรมชาติที่ปกคลุมด้วยหมอกเป็นพื้นของรูป

ราฟาเอล มีผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความประณีตนิ่มนวล ภาพที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพพระแม่ พระบุตร และจอห์น แบบติสต์ (Madonna and Child with St.John) แสดงความรักของแม่ที่มีต่อบุตร เป็นภาพเหมือนจริงที่มีชีวิตจิตใจ ดูเป็นปุถุชนธรรมดา ภาพเขียนของเขานับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เน้นให้เห็นบทบาทและความสำคัญของปัจเจกบุคคล พระกุมารในภาพแสดงถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กที่ถูกเพิกเฉยในสมัยกลาง และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความรักและความสนใจเด็กมากขึ้น

งานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในยุคนี้ที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของความคิดในกรอบและกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดของคริสต์ศาสนา ได้แก่ บทร้อยกรองซอนเนต(Sonnet) ของเทปราก ดิแคเมอรอน (Decameron) ของโจวันนี บอกกัชโช (Giovanni Boccaccio ค.ศ. 1313-1375) ซึ่งเป็นนิยายชวนหัวที่แสดงถึงบุคลิกลักษณะของมนุษย์และความสัมพันธ์ทางเพศ เป็นต้น

งานวรรณกรรมด้านนาฏกรรมหรือบทละคร ก็มีการรับอิทธิพลของบทละครกรีก โดยนำมาปรับให้เข้ากับรสนิยมของชาวตะวันตกในสมัยนั้น นักประพันธ์ที่สำคัญ ได้แก่ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare ค.ศ. 1564-1616) บทละครที่มีชื่อเสียงของเขา คือ โรมีโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) เวนิสวาณิช (The Merchant of Venice) เป็นต้น บทละครเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ อุปนิสัยและการตัดสินใจมนุษย์ในภาวการณ์ต่างๆ



อาจกล่าวได้ว่า งานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของสังคมตะวันตกที่มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ได้วางรากฐานความเจริญด้านต่างๆให้แก่ชาติตะวันตกเป็นอันมาก ชาวตะวันตกจึงก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 อย่างมีเหตุผลและโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น เกิดความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆในการเดินเรือสำรวจดินแดนโพ้นทะเลนอกทวีปยุโรป นำความรู้มาใช้จนเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และทางความคิดในยุคภูมิธรรม ทำให้สังคมตะวันตกเกิดการเปลี่ยนแปลงจนยุโรปก้าวมาเป็นชาติมหาอำนาจ และมีส่วนช่วยให้โลกตะวันตกถ่ายทอดวัฒนธรรมที่สะสมมานานไปยังส่วนต่างๆของโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น