วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

6.4การปฏิวัติฝรั่งเศส

6.4 การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส เริ่มประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส สาเหตุมาจากพระมหากษัตริย์อ่อนแอไม่ทรงพระปรีชาสามารถ ในการบริหารบ้านเมือง ประชาชนทั่วไปถูกขูดรีดภาษี จนอยู่ในภาวะยากจนสิ้นหวัง ขณะที่พวกพระและขุนนางชั้นสูงมีความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV ค.ศ. 1649-1715) ทรงใช้พระราชทรัพย์ไปในการทำสงครามและเพื่อความหรูหราของราชสำนักแวร์ซาย ถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV ค.ศ. 1715-1774) ก็มิได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในทางที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ทั้งยังเสียดินแดนอาณานิคมเกือบทั้งหมดให้อังกฤษ เนื่องจากเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เจ็ดปี (ค.ศ. 1745-1763) ต่อมาในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI ค.ศ. 1774-1792) เศรษฐกิจของฝรั่งเศสยิ่งมีปัญหามากขึ้นเพราะความฟุ่มเฟือยของราชสำนักแวร์ซาย ประกอบกับต้องใช้จ่ายในการช่วยเหลือชาวอเมริกันในสงครามประกาศอิสรภาพ

ปัญญาชนฝรั่งเศสพยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ต่างๆภายในประเทศให้ดีขึ้น อังกฤษซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกำลังเจริญรุ่งเรืองจึงกลายเป็นแม่แบบและแรงบันดาลใจให้กลุ่มปัญญาชนหาหนทางให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมกับเสรีภาพอย่างชาวอังกฤษบ้าง นอกจากนี้ ชาวฝรั่งเศสยังมีความเชื่อว่าการปกครองแบบมีรัฐสภา (parliamentary government) หรือรัฐบาลประชาธิปไตยจะนำความมั่นคั่งมาสู่ประเทศไทยได้ ในที่สุดชาวฝรั่งเศสหมดความอดทนที่จะยอมอยู่ภายใต้เงื่อนไขของระบบสังคมเก่าที่กีดกั้นเสรีภาพและการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม งานวรรณกรรมทางการเมืองของล็อก มองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรูโซ รวมทั้งปัญญาชนอื่นๆจึงสร้างเงื่อนไขอันก่อให้เกิดความหวังใหม่ขึ้นมาในหมู่ประชาชน ซึ่งระบบสังคมเก่าไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้เต็มที่ และความคิดดังกล่าวก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อชาวอเมริกันได้ก่อการปฏิวัติใน ค.ศ. 1776 เพื่อแยกตัวเองเป็นอิสระจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การปฏิวัติอเมริกัน ค.ศ.1776 จึงไม่เพียงแต่นำความชื่นชมมาสู่ผู้นิยมเสรีนิยมเท่านั้น แต่ทำให้ความมุ่งหวังต่างๆของกลุ่มนักคิดของยุคภูมิธรรมบรรลุความเป็นจริง อันได้แก่เรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค การล้มล้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรที่กำหนดให้แยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วน เป็นต้น ดังนั้นอีก 13 ปีต่อมา ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ชาวฝรั่งเศสจึงได้ก่อการปฏิวัติครั้งใหญ่เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตย และต่อมาได้จัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งนับว่ามีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความคิดทางการเมืองของนานาประเทศทั่วโลกทั้งในระยะเวลาอันสั้นและยาว

การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนได้เรียกร้องเสรีภาพ(liberty) เสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity) ตามแนวทางของรักปราชญ์การเมืองของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แนวความคิดดังกล่าวก็ยังสะท้อนออกเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสอีกด้วย เช่น เรื่องของสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินในมาตรา 11 ความเสมอภาคทางกระบวนการยุติธรรมในมาตรา 17 และการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วนในมาตรา 51 เป็นต้น

นอกจากนี้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (La Declaration des droits de I’homme et du citoyen) ซึ่งคณะปฏิวัติได้แถลงต่อประชาชนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ก็เป็นการนำเอาความคิดหลักของล็อก มองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรูโซ ย้อนกลับมาใช้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้ง เช่น ในเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน และอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ดังจะเห็นว่ามาตราที่ 1 ของคำประกาศก็ระบุว่า มนุษย์ทุกคนเกิดและดำรงชีวิตอย่างอิสระและมีสิทธิเสมอภาคกัน ในมาตราอื่นก็ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ทางชนชั้นและการแทรกแซงในเสรีภาพทางความคิดและศาสนาระบุหน้าที่ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ของประชาชน ซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ หากข้าราชการกระทำการใดให้ประชาชนไม่เชื่อถือแล้วประชาชนก็มีสิทธิที่จะต่อต้านและล้มล้างอำนาจได้

การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ได้ส่งผลกระทบให้แนวคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรป โดยผ่านการที่ฝรั่งเศสทำสงครามยึดครองประเทศต่างๆในยุโรปในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary War ค.ศ. 1792-1802) และสงครามนโปเลียน (Napoleonic War ค.ศ. 1803-1815) แม้ว่าในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้สงครามก็ตาม แต่ประชาชนในประเทศต่างๆ ก็ตื่นตัวต่อแนวคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศส นำไปสู่การต่อต้านผู้ปกครองตลอดช่วงเวลาคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชน

กล่าวได้ว่า แนวความคิดประชาธิปไตยของล็อก สองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรูโซ มีผลในการปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมืองของชาวตะวันตกเป็นอันมาก และก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ของระบบการเมืองที่ประชาชนถือว่าตนเป็นเจ้าของประเทศ และต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ เหตุการณ์ปฏิวัติทางการเมืองโดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 เป็นแม่แบบให้ชาวตะวันตกร่วมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น