วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

3.2 การเริ่มปฏิรูปศาสนา

3.2 การเริ่มปฏิรูปศาสนา
การขายใบยกโทษบาป ทำให้มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther ค.ศ. 1484-1546) ประท้วงด้วยการปิดประกาศคำประท้วง 95 ข้อ (Ninety-Five Theses) โดยประกาศว่า สันตะปาปาไม่ควรเก็บภาษีเพื่อนำไปสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์และสันตะปาปาไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่นำมนุษย์ไปสู่พระเจ้า ประกาศดังกล่าวถือเป็นการประท้วงที่มีศาสนจักรอันเป็นที่มาของนิกายโปรเตสแตนต์ (Protestants) คำประกาศได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในเขตเยอรมัน

ค.ศ. 1521 มาร์ติน ลูเทอร์ ได้รับคำสั่งจากจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 (Charles V ค.ศ. 1519-1556) ให้ไปเข้าประชุมสภาแห่งเวิร์ม เขาถูกกล่าวหาจากจักรพรรดิว่ามีทีท่าเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์ศาสนาและเป็นบุคคลนอกศาสนา แต่เจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนีได้อุปถัมภ์ไว้ เขาได้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน ทำให้ความรู้แพร่หลายมากขึ้น


หลังจากนั้น พวกเจ้านายได้แตกแยกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ เจ้าผู้ครองแคว้นทางเหนือ ซึ่งสนับสนุนมาร์ติน ลูเทอร์ กับเจ้าผู้ครองแคว้นทางใต้ ซึ่งสนับสนุนคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ในที่สุดก็มีการสงบศึกโดยทำสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเอากส์บูร์ก (The Peace of Augsburg) โดยให้แต่ละแตว้นมีสิทธิเลือกนับถือนิกายลูเทอร์หรือนิกายโรมันคาทอลิก

นิกายลูเทอร์มีหลักปฏิบัติ การดำเนินงาน พิธีกรรมทางศาสนาและลักษณะของนักบวชเป็นแบบคาทอลิก แต่นักบวชในนิกายลูเทอร์สามารถมีครอบครัวได้เพราะเป็นเพียงผู้สอนศาสนา และยังคงมีการรักษาพิธีกรรมบางข้อไว้ เช่น ศีลจุ่มและศีลมหาสนิท ลัทธินี้ มีกรอบความคิดว่า ความหลุดพ้นทางวิญญาณของชาวคริสต์จะสามารถมีได้ก็เนื่องจากการยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้า จนพระองค์ทรงเมตตาเท่านั้น

ผลของการปฏิรูปทางศาสนาก่อให้เกิดนิกายโปรเตสแตนต์ โดยแบ่งเป็น

- นิกายลูเทอร์ แพร่หลายในเยอรมันและประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียน
- นิกานคาลวิน แพร่หลายในสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และสกอตแลนด์
- นิกายอังกฤษหรือแองกลิคัน เป็นนิกายประจำประเทศอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น