5.2.3) การขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
การพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำไม่เพียงแต่ทำให้อุตสาหกรรมการทอผ้าของอังกฤษเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ และมีผลให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในดินแดนอื่น ๆของยุโรป ตลอดจนสหรัฐอเมริกาด้วย
ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษสามารถผลิตเหล็กได้ประมาณปีละ 25,000 ตัน เท่านั้น ซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักประเภทต่างๆ ที่ต้องอาศัยเหล็กเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต อีกทั้งการถลุงเหล็กในระยะแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ เพราะยังคงใช้ฟืน และถ่านไม้ ( charcoal ) ที่ให้ความร้อนต่ำเป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี เมื่อเครื่องจักรไอน้ำได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นแล้ว ก็ได้มีการนำถ่านโค้ก ( coke ) ซึ่งเป็นถ่านหิน ( coal ) ที่ผ่านกระบวนการเผาจนหมดควันแล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหลอมโลหะ การพัฒนาเครื่องจักรกลที่ใช้ไอน้ำ และการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงดังกล่าวนี้ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของอังกฤษสามารถขยายปริมาณผลิตได้อย่างรวดเร็วจนมีปริมาณถึง 1 ล้านตัน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และมีจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการขยายอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ใน ค.ศ. 1784 เฮนรี คอร์ต ( Henry Cort ค.ศ. 1740 - 1800 ) ได้คิดค้นวิธีการหลอมเหล็ก ให้ได้เหล็กบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยปราศจากโลหะอื่นเจือปน และต่อมาได้พัฒนาวิธีการตัดเหล็ก และวิธีการหลอมเหล็กเป็นรูปทรงต่างๆตามต้องการได้ ทำให้กองทัพของชาติตะวันตก สามารถปรับปรุงคุณภาพของปืนใหญ่ ( cannon ) และปืนคาบศิลา ( musket ) ตลอดจนยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป
นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพของเหล็กดังกล่าวประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องจักรกลไอน้ำก็มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมตะวันตก และทำให้สังคมตะวันตกโดยทั่วไปเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เกิดการปฏิวัติทางคมนาคมขนส่ง การสร้าง และพัฒนาเรือกลไฟที่ใช้พลังน้ำ ให้เป็นพาหนะสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ทั้งในระยะใกล้และไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ ค.ศ. 1830 โลกได้เข้าสู่ ยุคม้าเหล็ก เมื่ออังกฤษได้เปิดเส้นทางรถไฟไอน้ำสายแรก ซึ่งวิ่งระหว่างเมืองลิเวอร์พูล ( Liverpool ) และเมืองแมนเชสเตอร์ ( Manchester ) ต่อมาอีก 10 ปี อังกฤษมีเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของประเทศ รวมกันได้ประมาณ 1,280 กิโลเมตร และเพิ่มมากกว่า 7 เท่า เป็น 9,600 กิโลเมตร ในค.ศ. 1850 เส้นทางรถไฟดังกล่าวเหล่านี้ นอกจากจะทำให้การขนส่งสินค้าต่างๆจากโรงงานไปสู่ตลาด เป็นไปอย่างสะดวกสบาย แล้วยังนำความเจริญจากเมืองเข้าสู่ชนบท
ความสำเร็จของการปฏิรูปอุตสาหกรรมของอังกฤษกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆในแผ่นดินใหญ่ของยุโรป รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ของโลกหันมาสนใจอย่างจริงจังต่อกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จนในที่สุด ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาก็สามารถก้าวมาเป็นคู่แข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมกับอังกฤษได้
วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น