วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

1.4.2) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและระบบการค้า

1.4.2) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและระบบการค้า
การขยายอิทธิพลของประเทศในยุโรปไปยังส่วนต่างๆของโลกๆได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของโลกตะวันตกเองด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำลายระบบสมาคมเปลี่ยนแปลงระบบสมาคมอาชีพ (guild) หรือสมาคมการค้าประเภทหนึ่งประเภทใดที่มีมาตั้งแต่สมัยกลาง การค้นพบดินแดนใหม่และการจัดตั้งสถานีการค้าและอาณานิคมช่วยให้ชาติตะวันตกขยายตัวทางการค้าอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดเกิดการปฏิวัติการค้า (commercial revolution) การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวยุโรปที่ทำกันในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคได้ขยายขอบเขตกว้างขวางไปทั่วโลก มีการใช้เงินตราและเกิดระบบพาณิชยนิยม (mercantile system) ในระบบนี้รัฐบาลของกษัตริย์เข้าควบคุมการผลิตและการค้า เน้นการส่งออก กีดกันสินค้านำเข้า และแสวงหาอาณานิคมเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบและเป็นแหล่งระบายสินค้าในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 รัฐต่างๆในโลกตะวันตกได้ยึดถือนโยบายแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลักในการสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงให้แก่ประเทศ เพราะถือว่าทรัพยากรต่างๆทั่วโลกมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆทั้งโดยสันติวิธีและความรุนแรงเพื่อเป็นเจ้าของทรัพยากรนั้น เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์และอำนาจมาสู่รัฐของตน ในช่วงนี้บรรดาพ่อค้าและนายทุนได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทรวมทุน (joint stock company)ขึ้น เปิดโอกาสให้บุคคลร่วมกันลงทุนเพื่อขยายการค้าละผูกขาดสินค้าต่างๆ โดยมีรัฐหรือกษัตริย์ให้การสนับสนุน บริษัทรวมทุนดังกล่าวนี้จะทำการค้าในนามของประเทศและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประเทศของตนให้สามารถยึดครองดินแดนต่างๆในพระนามของกษัตริย์ ตัวอย่างเช่น บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้ก่อตั้งมลรัฐเวอร์จิเนีย มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ในทวีปอเมริกาเหนือ และเบิกทางให้รัฐบาลอังกฤษสามารถเข้าครอบครองอินเดียในเวลาต่อมา และบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาเข้าควบคุมศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศในช่องแคบมะละกา เป็นต้น บรรดาพ่อค้านายทุนที่มีบทบาทในบริษัทร่วมทุนดังกล่าวนี้ก็ล้วนแต่มีฐานะมั่นคงจากผลกำไรของการค้า และกลายเป็นบุคคลชั้นสูงที่มีบทบาทสำคัญในด้านารเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม และเป็นคู่แข่งขันสำคัญของชนชั้นขุนนางเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวทางใหม่ทางด้านระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19

นอกจากนี้การขยายตัวทางการค้าอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก การค้นพบเหมืองแร่เงินและทองในทวีปอเมริกา และการหลั่งไหลของแร่ที่มีค่าดังกล่าวมาสู่ทวีปยุโรปทำให้เกิด การปฏิวัติทางราคา (price revolution) สินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพมีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัวในคริตส์ศตวรรษที่ 16 และ 17 การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าอย่างมากนี้ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของชาวตะวันตกในด้านสังคมและเศรษฐกิจแบบเก่าแก่สิ้นสุดลง รัฐบาลในหลายๆประเทศต่างพยายามหาวิธีการใหม่ๆที่จะเพิ่มรายรับให้ทันกับรายจ่าย โดยทั่วไปคนยากจนจะได้รับผลกระทบต่อการปฏิวัติทางราคานี้มากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องซื้อสินค้าที่ราคาแพงแล้ว ยังต้องรับภาระการจ่ายภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น