วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

5.2.1) สาเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นประเทศแรก

5.2.1) สาเหตุของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นประเทศแรก

1.) การปฏิวัติเกษตรกรรม
บรรดาประเทศต่างๆในยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษเป็นประเทศที่เจริญมั่งคั่งที่สุด และประชากรโดยทั่วไปต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่อื่นๆ ทั้งนี้เพราะอังกฤษได้เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรม ( Agricultural Revolu tion ) เป็นประเทศแรก การปฏิวัติดังกล่าวนี้ เกิดจากการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาการมาปรับปรุงการเกษตรกรรมให้ได้ผลดีขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 16 รัฐบาลออกพระราชบัญยัติล้อมเขตที่ดิน ( Enclosure Acts ) มาใช้ในการปรับปรุงเพิ่มผลการผลิตทางการเกษตร ระบบปิดล้อมทำให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่สามารถรวบรวมที่ดินของตนให้เป็นผืนใหญ่ผืนเดียวกัน และกั้นรั้วล้อมให้เป็นสัดส่วน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์ การคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม ตลอดจนการป้องกันการเสียหายของพืช จากการทำลายโดยคน และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้สามารถนำเอาวิธีการเกษตร กรรมแบบใหม่ๆ เช่น เครื่องหว่านเมล็ดพืช และเครื่องกำจัดวัชพืช มีใบมีดติดกับล้อคันไถมาช่วยในการปรับปรุงวิธีการทำนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การปฏิวัติเกษตรกรรมจึงทำให้อังกฤษมีความรุ่ งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก และมีอาหารอุดมสมบูรณ์พียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากรทั้งประเทศ ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะประชากรในเขตเมืองที่จะเป็นแรงงานสำคัญต่อการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมของประเทศ

นอกจากนี้ การที่อังกฤษจัดตั้งธนาคารกลางของประเทศ คือธนาคารแห่งอังกฤษ ( Bank of England ) ขึ้นใน ค.ศ. 1694 ทำให้นครลอนดอนไม่เป็นเพียงศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของยุโรป แต่ยังเป็นแหล่งระดมเงินทุนของรัฐบาสที่ให้การสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิทยาการ การส่งเสริม และจัดตั้งโรงงานอุตสาหรรมต่างๆได้อีกด้วย 2.) คุณสมบัติเฉพาะตัวของชาวอังกฤษ

ความสำเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมิได้เกิดขึ้นจากความมั่งคั่งของประเทศเพียงประการเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของชาวอังกฤษที่กล้าได้กล้าเสีย และกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆอันเป็นผลมากจากอิทธิพลของคริสต์ศาสนานิกายอังกฤษ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของนิกายโปรเตสแตนท์ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาวอังกฤษโดยทั่วไปมีความเชื่อว่า ความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์เป็นความสำเร็จสูงสุดของชีวิต ที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของตนเอง และครอบครัว ทัศนคติดังกล่าวนี้จึงทำให้ชนชั้นขุนนางในอังกฤษไม่เคร่งครัดต่อการแบ่งแยกชนชั้นในสังคมเท่ากับพวกขุนนางในประเทศอื่น ๆในทวีปยุโรป และให้การยอมรับบุคคลจากชนชั้นอื่นที่สามารถสร้างฐานะเป็นปึกแผ่นได้ นอกจากนี้ขุนนางอังกฤษก็ไม่มีความรังเกียจที่จะลดตัว มาลงทุนทำการค้าเพื่อแข่งขันกับบรรดาพ่อค้าต่างๆอีกด้วย ขณะเดียวกันบรรดาพวกชนชั้นกลาง เช่น คหบดีชนบทรายย่อย ( minor gentry ) และชาวนาเจ้าของที่ดิน ( yeoman ) ต่างก็พยายามใช้ความสามารถของตนทุกวิถีทาง เพื่อยกสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมของตนให้ทัดเทียมกับพวกชนชั้นขุนนาง ทัศนคติทางวัตถุธรรมดังกล่าวจึงทำให้ชาวอังกฤษโดยทั่วไปเห็นการค้าขายเป็นงานมีเกียรติ ไม่ถือตัวที่จะประกอบอาชีพธุรกิจ พร้อมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ถ้าจะทำให้มีฐานะทางเศรษฐกิจของตนมั่งคั่ง และมั่นคงยิ่งขึ้น

3.) การขยายตัวของตลาดการค้า
อังกฤษเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านการค้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป นโยบายการค้าแบบเสรี และยกเลิกการเก็บภาษีการขนถ่ายสินค้าผ่านด่านก่อนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้กระตุ้นให้มีการขยายตัวของตลาดการค้าภายในอย่างกว้าง ขวาง นอกจากนี้สมาชิกของรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจ และพ่อค้า ก็มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ตลาดการค้าขยายตัวอีกด้วย ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้มีการออกพระราชบัญญัติหลายฉบับในการสร้างถนน ท่าจอดเรือ และขุดคูคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า ซึ่งมีผลให้การขนถ่ายสินค้าทั่วทั้งประเทศเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้เข้ารบในสงครามประเทศคู่แข่งขันในการขยายอำนาจทางทะเล และสามารถยึดครองดินแดนโพ้นทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งวัตถุดิบดั้งในทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกา การครอบครองอาณานิคมดังกล่าวนี้ ทำให้อังกฤษสามารถขยายปริมาณสินค้าส่งออก และเพิ่มจำนวนตลาดการค้าในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนการค้ากลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องให้การส่งเสริม และคุ้มครอง กองทัพเรือของอังกฤษจึงมิได้ทำหน้าที่เพียงแต่การป้องกันประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาเส้นทางการค้าทางทะเล และให้ความคุ้มครองแก่เรือพาณิชย์ที่เดินทางไปค้าขายในที่ต่าง ๆทั่วโลกอีกด้วย

ปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้การวางรากฐานอุตสาหกรรมในอังกฤษมีความมั่นคงกว่าที่อื่น ๆ และก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่ชาวอังกฤษในการค้นคิดหาวิธีการผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดได้มีการค้นคิดประดิษฐ์เครื่องจักร และเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น