วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

5.1.1) สภาพภูมิหลังของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์

5.1.1) สภาพภูมิหลังของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์
การปฏิวัติทางวิทยาศาสต์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมระยะเวลาหลายศตวรรษ มิได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็วเช่นลักษณะของการปฏิวัติทางการเมือง งานทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่สนใจของชาวตะวันตกมาช้านานตั้งแต่สมัยกลางแล้ว การติดต่อกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ และตะวันออกกลางทำให้วิทยาการของกรีก และอาหรับเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป วิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เช่น ดาราศาสตร์ กลศาสตร์ ถูกนำมาบรรจุในหลักสูตรการสอนของมหาวิทยาลัยตะวันตก ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 12 – 13

ความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์นี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาระหว่างคริสตศตวรรษที่ 14 – 17 ที่ชาวตะวันตกหันไปมุ่งฟื้นฟูงานด้านวรรณคดี และศิลปกรรมของกรีก และโรมันโบราณ ศิลปินที่สำคัญของยุค เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี และ มีเกลันเจโล ต่างใช้หลักการของวิชากายวิภาคศาสตร์ อันเป็นวิชาแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ในการศึกษากล้ามเนื้อ และโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ และนำความรู้ดังกล่าวนี้ไปสร้างสรรค์งานศิลปกรรม ทั้งทางด้านจิตรกรรม และประติมากรรมที่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วน และความงดงามของมนุษย์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ ยังทำให้ชาวตะวันตกค้นพบคุณสมบัติของเลนส์ที่นำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของกล้องส่องทางไกล และกล้องดูดาว ซึ่งช่วยในการเดินเรือ และพัฒนาเทคนิคใหม่ๆในการต่อเรือ จนทำให้ชาวตะวันตกสามารถขยายพรมแดน และอิทธิพลไปยังดินแดนโพ้นทะเลได้ ความสำเร็จของการบุกเบิกดังกล่าวนี้มีส่วนเร่งให้มีการศึกษาค้นคว้าในวิชาดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้ง จนในที่สุดก็สามารถพัฒนาเครื่องมือในการวัด และการคำนวณอย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาในการเดินเรือ ทำให้การเดินเรือมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ยังทำให้ชาวตะวันตกเริ่มเป็น กบฏทางความคิด ต่ออำ นาจเหนือธรรมชาติของพระเป็นเจ้า ตามคำสอนของคริสต์ศาสนา วิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้ประชาชนต้องการหาคำตอบให้แก่ความลี้ลับของธรรมชาติที่สามารถอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ได้

ในคริสตศตวรรษที่ 17 รัฐบาลประเทศต่างๆยังส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะมองเห็นว่างานด้าน วิทยาศาสตร์ และการประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ชาติของตน และนำประเทศไปสู่ผลประโยชน์ และอำนาจในส่วนต่างๆของโลกได้ ดังนั้นจึงมีการตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติตามดินแดนต่างๆทั่วไปในทวีปยุโรป ทั้งนี้ กษัตริย์ เจ้านคร หรือผู้มีฐานะมั่งคั่งให้เงินทุนสนับสนุนในการวิจัย และการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์ดังกล่าวนี้ ได้ประสานงานในการแลกเปลี่ยนเอกสาร และข้อมูลการค้นคว้า มีการจัดพิมพ์รายงานผลการทดลอง และการวิจัยเป็นภาษาละติน ซึ่งถือว่าเป็นภาษาสากล เผยแพร่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ
ในที่สุดก็ทำให้งานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ แลเทคโนโลยีของชาติตะวันตกขยายตัวอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ช่วยยกมาตรฐานของนักวิทยาศาสตร์ ให้มีบทบาทสูงในสังคม และเป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น