วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

5.1.2) นักวิทยาศาสตร์

5.1.2) นักวิทยาศาสตร์
พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ในระยะแรกเป็นการศึกษา เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของนักปราชญ์ในสมัยนั้น อันเป็นการศึกษาข้อสมมติฐานดั้งเดิมจากอดีตโดยพยายามค้นหาทฤษฎี และความรู้ใหม่ๆ เพื่อล้มล้างกฎเกณฑ์เก่าๆที่เคยมีมา นักปราชญ์หรือนักวิทยาศาตร์คนแรกที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณูปการต่อการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ได้แก่ นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส ( Nicolaus Copernicus ค.ศ.1473 – 1543 ) ชาวโปแลนด์ ในค.ศ. 1543 ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์อธิบายระบบสุริยจักรวาลในหนังสือชื่อ On the Revolutions of the Heavenly Bodies ว่าโลกมิได้หยุดนิ่ง หรือเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล แต่ดาวเคราะห์ทุกดวง รวมทั้งโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ( heliocentric ) ทฤษฎีของโคเพอร์นิคัสเป็นการลบล้างคำสั่งสอนของศาสนจักรในสมัยกลาง ซึ่งรวมถึงความเชื่อของชาวตะวันตกที่มีมาแต่สมัยกรีกโบราณที่ยึดข้อสมมติฐานของอาริสโตเติล( Aristotle ) และงานเขียนของโตเลมี ( Ptolemy ) เรื่อง แอลมะเจสท์( Almagest ค.ศ.150 ) ซึ่งอธิบายว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล( geocentric )

ในปีเดียวกันนั้น กาลิเลโอ กาลิเลอิ ( Galileo Galilei ค.ศ.1564 - 1642) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปาดัว ( Padau ) และมหาวิทยาลัยปิซา( Pisa ) แห่งอิตาลี ก็สามารถประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์ เพื่อสังเกตดูการเคลื่อนไหวของดวงดาว ซึ่งทำให้เขาแลเห็นพื้นผิวขรุขระของดวงจันทร์ว่าแตกต่างไปจากโลก ดาวพฤหัสมีดวงจันทร์เช่นเดียวกับโลก แต่จำนวนมากกว่า และดวงอาทิตย์มีจุดดับที่เคลื่อนที่ได้ ข้อสังเกตของกาลิเลโอ ทำให้นักดาราศาตร์ได้ข้อสรุปใหม่ๆเกี่ยวกับความลี้ลับของจักรวาล และการเคลื่อนตัวของระบบสุริยจักรวาลตามทฎษฎีของโคเพอร์นิคัส ในค.ศ.1632 กาลิเลโอได้รวบรวมผลการสำรวจนานนับสิบปีของเขาพิมพ์เผยแพร่ เพื่อโต้แย้งกับความคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของกรีก โดยใช้ชื่อหนังสือว่า คำถามคำตอบเกี่ยวกับสองทฤษฎีสำคัญของโลก ( Dialogue on the Two Chief Systems of the World ) แต่ความคิดเห็นของเขาที่ขัดแย้งกับคำสอนของคริสตศาสนาด้วย ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากศาสนจักร ในที่สุด กาลิเลโอก็ถูกศาสนจักรลงโทษด้วยการประณาม ตลอดจนถูกข่มขู่ต่างๆ
เซอร์ฟรานซิส เบคอน (Sir Francis Bacon ค.ศ. 1561 – 1626 ) นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้วางรากฐาน และทัศนคติใหม่ดังกล่าวนี้ ในงานเขียนสำคัญ 3 เล่มของเขา อันได้แก่ The Advancement of Learning ( ค.ศ. 1605 ) Novum Organum ( ค.ศ. 1620 ) New Atlantis ( ค.ศ. 1627 ) ซึ่งกระตุ้นให้ชาวอังกฤษ และรัฐบาลหันมาสนใจ และยอมรับความสำคัญของงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดได้เป็นแรงบันดาลใจให้มีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสมาคม หรือ Royal Society of London for the Promotion of Natural Knowledge เพื่อส่งเสริมงานค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นใน ค.ศ. 1660
ในฝรั่งเศส เรอเน เดการ์ต ( René Descartes ค.ศ. 1596 - 1650 ) นักปรัชญา และนักคณิตศาสตร์ก็ได้นำหลักของการใช้เหตุผล และการค้นคว้าวิจัย มาใช้ในการแสวงหาความรู้ โดยวางหลักเกณฑ์เป็นทฤษฎีใหม่ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ทางคณิตศาสาตร์ ว่าสามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ และตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เดการ์ตถือว่างานด้านคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาเรขาคณิตเป็นหลักความจริง( axioms ) ที่สามารถสืบสาวความจริงของงานวิทยาศาสตร์ทุกระดับได้ วึ่งรวมทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับระบบจักรวาล( universe )ด้วย หนังสือของเขาเรื่อง Discourse of Method( ค.ศ. 1637 ) ถือว่าเป็นข้อเขียน และทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่สร้างจิตวิญญาณ( spirit )ของแนวทางการศึกษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และมีอิทธิพลต่อความคิดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาเป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษ
ในปลายคริศต์ศตวรรษที่ 17 เซอร์ไอแซก นิวตัน ( sir Isaac Newton ค.ศ. 1642 - 1727 ) ชาวอังกฤษ นับว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เด่นที่สุด การค้นพบกำแรงดึงดุดของจักรวาล ( Law of Universal Atrraction ) และกฎแห่งความโน้มถ่วง ( Law of Gravity ) ของเขา โดยอาศัยหลักคณิตศาสตร์ของเดการ์ต และแนวการศึกษาของเคปเลอร์ และกาลิเลโอ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า โลกและดาวเคราะห์ต่างๆหมุนรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างไร และดวงจันทร์หมุนรอบโลกโดยไม่หลุดออกจากวงโคจรได้อย่างไร รวมทั้ง สาเหตุที่ทำให้วัตถุต่างๆต้องตกลงสู่พื้นดิน แทนที่จะหลุดลอยไปในอากาศ หนังสือของนิวตันเรื่องหลักคณิตศาสตร์ ( Principia Mathematica ) ในภาษาละติน หรือเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า The mathematical Principles of Natural Knowledge ( ค.ศ. 1687 ) ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่ไม่เพียงแต่มีความสำคัญที่สุดในการศึกษาประวัติวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษยชาติด้วย

นอกจากนี้การค้นพบของนิวตันดังกล่าว ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ของนักวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจเรื่องของจักรวาล สสาร พลังงาน ตลอดจนการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยอาศัยวิธีการทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ และทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวใจของวิชากลศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จะจำกัดความคิดของตนเองในกรอบของคำถามที่ว่า อย่างไร ( how ) แทนคำถามที่ว่า ทำไม(why ) ในการค้นหาสาเหตุของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้โลกของนักวิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรราที่ 17 จึงเป็นเสมือนโลกของจักรกล ที่ปรากฏการณ์ต่างๆมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทดลอง ปฏิบัติ และวิธีการทางคณิตศาสตร์ และถือว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็น ภาษาของธรรมชาติ ( language of nature ) ที่จะไขปัญหาให้มนุษย์เข้าใจในลักษณะเฉพาะของธรรมชาติได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น