วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

5.2 การปฏิวัติอุตสาหกรรม

5.2 การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ความสำเร็จของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงต่อพัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และวิทยาการด้านต่างๆ ได้มีการนำเอาทฤษฎีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของมนุษย์มากขึ้น การพัฒนาเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีการผลิตจึงเกิดขึ้นพร้อมๆกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จนในที่สุดในกลางคริสตศ์ตวรรษที่ 18 เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการ และระบบผลิตดั้งเดิม จากการใช้แรงงานของคน สัตว์ และพลังงานธรรมชาติ มาเป็นการใช้เครื่องมือ และเครื่องจักรกล ในระบบโรงงานแทนระบบการจ่ายงานให้ไปทำตามบ้าน ( putting-out system ) เพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมาก

กระบวนการผลิตแบบโรงงานดังกล่าวนี้ ทำให้เกิด ระบบอุตสาหกรรมนิยม ( Industrialism )ขึ้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้าๆแต่ต่อเนื่อง เป็นเวลานานนับศตวรรษ เช่นเดียวกับการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ โดยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศตะวันตกต่างๆ และส่วนอื่นๆของโลก

ความหมายของการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตจากเดิมที่ใช้แรงคน แรงสัตว์ หรือแรงธรรมชาติ และใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ มาเป็นกระบวนการผลิตที่ใช้เครื่องจักรที่มีความสลับซับซ้อนและอาศัยพลังงาน ทำให้ผลิตได้ปริมาณมาก

อาจกล่าวได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในโลกตะวันตก ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต และแบบแผนความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกมุมโลกจากสังคมเกษตร เป็นสังคมกึ่งเกษตร กึ่งอุตสาหกรรม หรือ สังคมอุตสาหกรรม และมีผลกระทบให้เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และรวดเร็วกว่ายุคใดๆในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ดีๆ นะครับ

    ตอบลบ